7 หลักการ (Principles) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่
1. ความรับผิดชอบ (Accountability) การรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ บริการและการปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมภายนอกองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
2. ความโปร่งใส (Transparency)ความโปร่งใสในการตัดสินใจและการดำเนินงานที่มีผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
3. การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม (Ethical Behavior) การยึดมั่นปฏิบัติงานอย่างมีจริยธรรมทั้งความชื่อสัตย์ ไม่เลือกปฏิบัติ และยุติธรรม
4. การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มี ส่วนได้ส่วนเสีย (Respect for Stakeholder Interests) การเคารพ พิจารณาและตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วน ได้ส่วนเสียทุกกลุ่มขององค์กร
5. การเคารพต่อหลักนิติธรรม (Respect for the Rule of Law) การยอมรับการปฏิบัติตามหลักนิติธรรมหรือการปฏิบัติตาม กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับองค์การตลาด
6. การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล (Respect for International Norms of Behavior) การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติที่สากลกำหนด ร่วมกับ การยึดมั่นการดำเนินงานตามหลักนิติธรรมที่
รัฐบาลกำหนด อย่างเคร่งครัด
7. การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน (Respect for Human Rights) การให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและยอมรับถึงความสำคัญ และความเป็นสากลของหลักการ
7 หัวข้อ (Core Subjects) ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่
1. การกำกับดูแลองค์กร (ธรรมาภิบาล)
2. สิทธิมนุษยชน
3. การปฏิบัติด้านแรงงาน
4. สิ่งแวดล้อม
5. การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม
6. ประเด็นด้านผู้บริโภค
1. ธรรมาภิบาล (Organizational Governance)
ธรรมาภิบาลเป็นกลไกขั้นต้นสำหรับการขับเคลื่อนให้ องค์การตลาดปฏิบัติงานด้วยความเป็นเลิศภายใต้ หลักการคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบ โดยผู้ที่มีบทบาทหลักในการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จได้แก่ คณะกรรมการ อต. ในฐานะผู้แทนเจ้าของกิจการ/ผู้ถือหุ้นภาครัฐ ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่คณะกรรมการองค์การตลาด ต้องมีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำหลักการด้านธรรมาภิบาลนำสู่การปฏิบัติจริง ภายในองค์การตลาด จนเกิดผลสำเร็จโดยเป็นการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล และสอดรับกับหลักการกำกับดูแลที่ดีในมิติบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร) กำหนด ได้แก่ การกำหนดทิศทางและค่านิยมด้านการกำกับดูแล เพื่อทำให้ ปฏิบัติงานโดยรับผิดชอบต่อผลจากการกระทำที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม การมีภาวะผู้นำด้านการแสดง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการคำนึงถึงความยั่งยืน การตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ อย่างสมดุล และการส่งเสริมให้เกิดระบบการกำกับดูแลที่ดีที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนให้ บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายด้านการแสดงความรับผิดชอบ ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาความยั่งยืนได้ตามแนวทางที่เจ้าของกิจการ/ผู้ถือหุ้นภาครัฐกำหนด
2. สิทธิมนุษยชน (Human Rights)
สิทธิมนุษยชนเป็นหลักการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับบุคคล โดยเป็นการผนวกรวมหลักปฏิบัติเชิงพฤติกรรมจริยธรรมกับการจัดการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานสากล ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้บุคคลทุกระดับทั้งภายในและภายนอกองค์การตลาด เข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้ง สิทธิความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการทำงาน สิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนได้รับการรับรองหรือคุ้มครองให้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ เพศ การนับถือศาสนา เป็นต้น จึงนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในกำหนดระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เนันหลักนิติธรรม ความยุติธรรม และการไม่เลือกปฏิบัติเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงาน
3. หลักการปฏิบัติด้านแรงงาน (Labor Practices)
องค์การตลาดมุ่งเน้นการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคล อย่างเป็นระบบ ดูแลบุคลากรทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง ผ่านระบบพัฒนาขีดความสามารถของพนักงาน และมีระบบประเมินผลการปฏิบัติงาน รวมถึงส่งเสริมให้พนักงานสามารถ สร้างคุณค่าให้กับตนเอง องค์กร และสังคมได้ นอกจากนี้แนวทางในการเสริมสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรยังมุ่งเน้นการสื่อสารแบบสองทางเพื่อรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นของพนักงานมาใช้ในการปรับปรุงระบบงานสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสวัสดิการสำหรับพนักงาน อย่างต่อเนื่อง
4. สิ่งแวดล้อม (Environment)
การจัดการสิ่งแวดล้อม หมายถึง กระบวนการใช้สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบโดยการวางแผนดำเนินงาน ติดตามประเมินผล และปรับปรุงแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้นโดยคำนึงถึงการใช้อย่างประหยัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดใช้ให้ได้ยั่งยืน ยาวนานตลอดไป ในการดำเนินกิจกรรมทุกประเภทขององค์กรซึ่งรวมทั้งการบริหารงานสิ่งแวดล้อมจะต้องประกอบด้วยการจัดการเป็นกระบวนการที่สำคัญ เพราะการจัดการที่ดีจะช่วยลดปัญหาต่างๆลงได้
5. การปฏิบัติที่เป็นธรรม (Fair Operating Practices)
การปฏิบัติที่เป็นธรรมในบริบทของ องค์การตลาด หมายถึง การประยุกต์ใช้หลักจริยธรรมในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ทั้งกลุ่มลูกค้า คู่ค้า ผู้ส่งมอบ คู่แช่งชัน ชุมชน และสังคม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ อย่างเท่าเทียมและปราศจากการเลือกปฏิบัติ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการค้า การทุ่มตลาด และการจัดซื้อจัดจ้างที่ขาดความโปร่งใส ซึ่งเพื่อให้บรรลุได้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด จึงนำแนวปฏิบัติที่ดีตามมาตรฐาน ISO 26000 มาเป็นกรอบการดำเนินงาน โดยครอบคลุม ประเด็นสำคัญ ได้แก่ การต่อต้านการทุจริต
6. ประเด็นด้านผู้ใช้บริการ (Consumer Issues)
องค์การตลาด ตระหนักถึงความสำคัญของการให้บริการกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยคำนึงถึงหลักการ ดังนี้
- การตลาดที่เป็นธรรม สารสนเทศ ที่เป็นจริงและไม่เบี่ยงเบนและการปฏิบัติตามข้อตกลงที่เป็นธรรม
- การคุ้มครองสุขภาพและ ความปลอดภัยของผู้บริโภค
- การบริโภคอย่างยั่งยืน
- การบริการ การสนับสนุน และการยุติ ข้อร้องเรียนและข้อโต้แย้งแก่ผู้บริโภค
- การปกป้องข้อมูลและความ เป็นส่วนตัวของผู้บริโภค
- การเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็น
7. การมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาชุมชน (Community Involvement and Development)
องค์การตลาดมุ่งมั่นที่ดีและมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการดูแลพื้นที่ ผู้คนและชุมชน ผู้ประกอบการค้าในตลาด ผู้ช่าพักอาศัยและและพนักงานในการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกิจกรรมต่างๆ ที่จะตอบแทนชุมชนในการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น